บทความเพื่อการเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป

บทความถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
สงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ ดัดแปลง หรือคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความก่อนได้รับอนุญาต

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประมวลภาพ ค่าย "อยู่กับลูกให้สนุก กลุ่มสอง" บ้านผู้หว่าน

ค่ายอยู่กับลูกให้สนุก  ผ่านไปแล้ว
ทุกคนได้ความผ่อนคลาย และพลังใจ
กลับไป "เล่นให้สนุก"ต่อที่บ้าน

จึงนำภาพการเรียนรู้  มาช่วยเตือนความจำ

ฉุกคิด หน่วงใจ ได้สติ และรอยยิ้ม เมื่อได้กลับมาแวะเวียนดู


ระฆังดัง..  แก๊ง !


























วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Reflection จากผู้เข้าอบรม

จากกระทู้ ในบอร์ดมหิดล
 http://www.cf.mahidol.ac.th/floortime/autopage/main.php?board=000261&topboard=2&id_g=1&h=5

ความคิดเห็นที่ 55 โดนสายป่าน
ก่อนเข้าค่าย ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรจากค่ายอยู่กับลูกให้สนุก
ด้วยคิดเสมอว่า การที่เราจะเปลี่ยนความคิด มุมมอง

 สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวเรา
ถ้าเราเปลี่ยนตัวเราเองไม่ได้
ก็คงไม่มีอะไรมาเปลี่ยนได้

เมื่อรู้สึกทุกข์กับปัญหาเรื่องลูก
ก็มุ่งอยู่แต่ว่า ต้องเพิ่มเวลาที่อยู่กับลูก
 เลยไม่ยอมไปไหน กลัวเสียเวลา
พอเลิกงานก็มุ่งแต่กลับบ้าน
 เลิกแวะเวียนนอกเส้นทาง
 ถ้าอยากไปซื้อของหรือไปไหนที่พอเอาไปด้วยได้
ก็จะต้องแวะกลับไปรับลูกก่อน
 จนแทบจะห่างกันเฉพาะตอนไปทำงาน
หรือเข้าห้องน้ำเท่านั้นกระมัง

ด้วยคิดเสมอว่า หน้าที่ในการเลี้ยงลูกควรเป็นของแม่
ถึงมีตายาย ช่วยดูให้
ก็ไม่ควรปล่อยให้เขาต้องรับภาระนั้นตลอดเวลา

เมื่อเพิ่มเวลาให้แล้ว ปัญหาที่มีอยู่ก็ดูไม่ลดลง พยายามหาทางออก โดยหาความรู้เพิ่ม
หนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็ก จิตวิทยาเด็กไม่รู้กี่เล่ม
 กองพูนสูงขึ้นทุกที ท่องเว็บก็วนเวียนอยู่แต่เรื่องนี้
แต่ปัญหาต่างๆ ก็ดูวนเวียนอยู่อย่างนั้น ไม่เบาลงเลย

จนถึงจุดที่ว่าเมื่ออยู่ด้วยกัน ก็ทะเลาะกันเพิ่มขึ้น
จนถึงจุดที่อยากหนีจากปัญหาต่างๆ เลยตัดสินใจมาค่าย
คิดแค่ว่า ขอพักจากปัญหาสักหน่อยก็แล้วกัน

วันแรก ก็ยังคิดอยู่ว่า จะเสียเวลาเปล่าไหมนี่
 ถ้าอยู่บ้านก็ยังได้เล่นกับลูกนะ
 แต่ตอนนี้ได้พัก ก็สบายใจดีเหมือนกัน

แต่เมื่อวันผ่านไป กิจกรรมผ่านไป
 เริ่มรู้สึกว่า เออ นี่ไง ที่เป็นปัญหา
 จริงๆแล้วมันเป็นอย่างนี้นี่เอง

เมื่อค่ายจบ ก็เล่าไม่ถูกว่าได้อะไรจากค่าย
แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจากค่าย
 ก็ช่วยคลี่คลายปัญหา ที่ก่อนหน้า รู้สึกว่าไม่มีทางแก้ ไม่มีทางออก
ช่วยให้มองเห็นว่าจริงๆ แล้วมีทางออกอยู่


เมื่อเราเปลี่ยนมุมที่มอง เปลี่ยนความคิด การกระทำที่ตัวเรา
ได้เห็นว่ามุมมองของตัวเองที่เปลี่ยนไป
 ความคิดของตัวเองที่เปลี่ยนไป

โดยที่การเปลี่ยนนี้ไม่ได้เกิดจากการที่บังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยน
 แต่มันเปลี่ยนไปเอง โดยที่ยอมรับการเปลี่ยนนั้น
ช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็นอยู่ สิ่งที่ลูกแสดงออกมากขึ้น
บางเรื่องราวเหมือนมีอะไรบังตา บังใจอยู่


อ่านหนังสือก็แล้ว ขอคำแนะนำจากครูไปปรับใช้กับลูกก็แล้ว
มันก็ไม่ได้สักที ไม่เข้าใจสักที

 แต่จากกิจกรรมในค่าย เมื่อผ่านการคิด
ทบทวน ว่าได้อะไรจากกิจกรรมนั้น
หลายประเด็นที่เมื่อครูชี้ให้มองอีกครั้ง คิดอีกครั้ง
พบว่าได้เจอทางออกของปัญหาที่เคยคิดว่าทำไมแก้ไม่ได้สักที
ช่วยให้เราเข้าใจในตัวเราและลูกมากขึ้น
 ทำให้การอยู่กับลูกสนุกขึ้นจริงๆ
http://www.cf.mahidol.ac.th/floortime/autopage/main.php?board=000261&topboard=2&id_g=1&h=5
แบ่งปัน โดยแม่น้องแจ๊ค
อยากแบ่งปันว่าตอนที่จะมาค่ายนี้ คาดหวังมากว่าจะได้เครื่องมือต่างๆเอาไว้ไปใช้ตอนอยู่กับลูก เมื่อค่ายจบ
มันไม่ได้เครื่องมือ แต่มันได้เลือดเนื้อ ได้สมอง ได้ส่วนที่เรายังขาด ยังเว้าแหว่ง
 ถ้าเปรียบคงเหมือนคนที่ แข็งแรง สมบูรณ์
และ smart ขึ้น รวมถึงตระหนักในสิ่งที่ผ่านๆมาที่เราได้คิดว่าเราได้ทำฟลอไทม์ไป มีผิดถูกขาดเกินอย่างไร
และได้ถึงบางอ้อ ในบางอย่างที่มันติดขัด หรือ ทำไมอย่างนั้นอย่างนี้ พูดแบบชัดๆคือ เหมือนดวงตาเห็นธรรม
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ ครูพบและทีมงาน ที่จัดค่ายนี้ขึ้นมา
 ทำให้ภาพที่เคยนึกคิดมันชัดเจนเห็นจริงได้ลงมือทำ ได้รู้สึกอย่างแท้จริง 
จากกิจกรรมที่ทางค่ายตั้งใจเซทขึ้นมา และให้เราได้ทบทวนเสมอ
ต้องขอบคุณกัลยาณมิตรที่กรุณาพาลูกๆมา
ทั้งลูกเล็ก และลูกโต (แต่ตัว) มุมมองความคิดเห็นต่างๆที่เราแบ่งปันกันเป็นประโยชน์มาก
และจากตัวอย่างมีชีวิตเหล่านี้ โดยเฉพาะลูกๆที่มาเข้าร่วม
 โดยมีครูพบ คอยไกด์ ชี้แนะ นำทาง ชี้จุดที่พวกเรา มองข้าม มองไม่เห็น ไม่รู้สึก
 ตรงนี้ที่เป็น สิ่งที่สำคัญมากสำหรับตัวเอง 
เพราะปกติ เราทำฟลอไทม์ไป เราไม่เห็น ทั้งจุดบกพร่องของตัวเอง ไม่เห็นวิธีการ สังเกตลูกไม่ทัน ตีบตัน ฯลฯ
 หลายๆเหตุผลที่เรามักจะพบเวลาเราไปทำ FT กับลูก 
เมื่อกลับบ้าน ได้นำตัวอย่างตรงนี้มาใช้ ลูกพูดความรู้สึกว่า ‘ตื่นเต้น’ ออกมาเอง แบบเป็นความรู้สึกของตัวเค๊าเอง
 ทั้งที่เราก็ ทำงานอารมณ์เรื่องนี้มานานแล้ว
 แต่ทุกทีมันแค่เหมือนลูกตอบตามที่เราสะท้อนอารมณ์เท่านั้น
 และในเหตุการณ์เดียวกันนี้ ก็ได้สังเกตเห็นว่า การเล่นบางขณะลูกตื่นเต้นมากระบบเค๊าไวมาก
 เค๊าเลือก ผู้เล่นที่เบา ตัวละครที่ไม่เร้าเค๊ามาก ที่เค๊าพอรับไหว จากเดิมเราไม่ได้สังเกตเห็นจุดนี้ เน้นสนุกสนานไป
 นี่ละ มาจากค่ายคราวนี้โดยแท้ ก็เล่นแบบเดิมแหละ
 แต่วิญญาณเราเปลียนไป สมองคิด วิเคราะห็ ละเอียดมากขึ้น ก็จากตัวอย่างที่ได้เห็น ได้ทดลองทำในค่าย
ถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณตัวละครทุกๆตัวในค่าย 
รวมถึงผู้กำกับการแสดงด้วยค่ะ
 แหม!ถ้าลืมๆกันไปบ้างก็ขอระบุหน่อย พวก จระเข้ กิ้งก่า ตุ๊กตาสูบลม ม้า ลาทั้งหลายนั่นแหละ 

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

งานวิจัย ศึกษาผลของการใช้ DIR/floortime ในการช่วยเหลือเด็กออทิสติก ในประเทศไทย

ในการใช้โมเดล DIR/floortime ในการช่วยเหลือเด็กออทิสติก
มีการทำวิจัยถึงผลสำเร็จ ในประเทศไทย  โดยพญ.กิ่งแก้ว ปาจารีย์  และ พญ.แก้วตา  นพมณีจำรัสเลิศ

ผลงานวิจัยนี้ ได้รับการตีพิมพ์แล้ว
อ่านได้ที่  http://aut.sagepub.com/content/early/2011/06/01/1362361310386502.abstract


พญ.กิ่งแก้วได้พูดถึงการตีพิมพ์นี้ไว้ใน
http://www.cf.mahidol.ac.th/floortime/autopage/main.php?board=000083&topboard=2&id_g=1&h=5

ว่า


ความคิดเห็นที่ 288
ในที่สุด ผลงานวิจัยเรื่องฟลอร์ไทม์ของประเทศไทยก็ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติเสียที หลังจากพยายามปรับปรุงแก้ไขกันหลายรอบ

ในเว็ปนี้ ยังคงอ่านได้เฉพาะบทคัดย่อ ใครอยากได้ทั้งฉบับ คงต้องสั่งซื้อจากวารสาร แต่อีกไม่นาน คงจะพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ถึงเวลานั้น ก็คิดว่าจะสแกน แล้วโพสต์ให้อ่านกันค่ะ แต่คงไม่ว่างแปลนะคะ เนื้อหาวิชาการเหมาะสำหรับแพทย์และนักวิชาชีพค่ะ

http://aut.sagepub.com/content/early/2011/06/01/1362361310386502.abstract

งานชิ้นนี้เป็นผลงานร่วมของดิฉันกับคุณหมอแก้วตา โดยมีผู้ให้ความช่วยเหลือหลายท่าน นำโดยคุณหมอ Cecilia Breinbauer (เป็นอดีตผู้ช่วยของคุณหมอกรีนสแปน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของ ICDL แทน Dr. Selina ซึ่งเกษียณไปในปีที่แล้ว) ที่เคยเล่าว่าโทรมาให้คำปรึกษารวดเดียว หนึ่งชั่วโมงครึ่งน่ะค่ะ ความช่วยเหลือนี้มีทั้งในแง่ของเทคนิค และการแก้ไขภาษา จากเดิมคนอังกฤษแก้ หนึ่งรอบ ท่านสงให้เพื่อนของท่านคนแคนาดาแก้อีกหนึ่งรอบ ตามด้วยคนอเมริกัน อีกหนึ่งรอบ แล้วตบท้ายด้วยคนอักฤษ เจ้าของวารสารอีกหนึ่งรอบ คิดดู....กว่าจะได้ตีพิมพ์

สาเหตุที่เขาช่วยเราขนาดนี้ คิดว่าเป็นเพราะเราทำให้เขาเชื่อได้ว่าเราเข้าใจและทำฟลอร์ไทม์ "เป็น" จริง ๆ ค่ะ

และ

ความคิดเห็นที่ 291
เช้านี้ เปิด mailbox ต๊กกะใจ

รับจดหมายแสดงความยินดีเกือบ 10 ฉบับ จากทีมงานฟลอร์ไทม์ อเมริกา เพราะคุณหมอ Cecilia Breinbauer Forward mail จากเมืองไทยไป พร้อมกับข้อความนี้ค่ะ

Dear all,

I am very pleased to share with you a new pilot RCT of DIR/Floortime that was just published in the Autism journal this month. The study was lead by Dr. Payareya, who has done a wonderful work to disseminate the DIR/Floortime in Thailand. This study will add to the growing evidence of the model and is particularly important because it shows how this model could be implemented with very few resources in a different cultural background and language. Here is a link to the publication but I am also attaching a PDF of the article.
http://aut.sagepub.com/content/early/2011/06/01/1362361310386502.abstract

We will continue collaborating with Dr. Payareya (cc in this email), who is exploring now a new study to validate the SEGC in Thailand. Please join me in congratulating Dr. Payareya for her excellent work.


ขอแสดงความยินดี กับผลงาน 
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแสงสว่าง 
ส่องหนทางพัฒนาเด็กไทยทั้งที่เป็นออทิสติก และเด็กอื่นๆ  





วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ภาพจากการอบรม


ภาพจากการอบรม
"อยู่กับลูกให้สนุก"
1-4 พ.ค. 2554


วิถีการเรียนรู้ที่แท้จริงต้อง "ลงมือทำ"







แม่นยำในพัฒนาการ ๖ ขั้น





รู้จักกับความรู้สึกของตนเอง



รู้จักกับตัวเองในแง่มุมใหม่
คนเราแตกต่าง....  อย่างผู้นำสี่ทิศ


รู้จักดินแดนแห่งการเรียนรู้ : "พรมแดนศักยะ"



เตรียมพร้อมเครื่องมือทรงพลัง
เพื่อเล่นอย่างสนุกกับลูก




นั่นคือ... 
จุดประกายความสนุกในตัวเอง





 เพิ่มพลังการสื่อสารที่มีคุณภาพ




และสิ่งสำคัญที่ทุกคนต่างบอกตรงกันว่า
"ได้กัลยาณมิตรร่วมทางเดียวกัน"

เพราะ....จุดหมายไม่สำคัญเท่าระหว่างการเดินทาง










วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เก็บตกจากการอบรม

"ภาพกายบริหารแบบชี่กง ตามแนวทางของหมู่บ้านพลัม"


การอบรม "อยู่กับลูกให้สนุก" ที่ผ่านมา
หนึ่งกิจกรรมที่ถูกใจผู้เข้าร่วม
ซึ่งช่วยปรับฐานกายคือ 
การออกกำลังกายยามเช้า "ชี่กง" 
เป็นการเคลื่อนไหวกายที่สัมพันธ์กับจิต


ครูแอนน์  ได้เอื้อเฟื้อแบ่งปัน
บันทึกการออกกำลัง"ชี่กง" 
ตามแนวทางของหมู่บ้านพลัม

หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ
สมาชิก "อยู่กับลูกให้สนุก รุ่น ๑"  
ผู้ต้องการฝึกฝน เพื่อเพิ่มพลังกายใจด้วย"ชี่กง" อย่างต่อเนื่อง

จนกว่าจะพบกันใหม่ 15-18 กรกฏาคมนี้ ณ บ้านผู้หว่าน ครับ





วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

Seperation Anxiety

ความรู้สึกกังวลต่อการแยกจาก หรืออาการติดแม่นี้ 
เริ่มเกิดเมื่อประมาณ 8 เดือน
รุนแรงที่สุดเมื่ออายุราว 2-3 ปี และควรหมดไปก่อนอายุ 5 ปี



ในช่วงที่มีความกังวลมาก  อาจมีอาการ ติดแม่อย่างหนัก 
แม่ไปไหนต้องเกาะติดไปด้วยไม่ยอมแยกจากแม้ช่วงสั้นๆ 
เช่น แม่เข้าห้องน้ำก็ต้องตามเข้าไปด้วย


ความกังวลนี้มีสาเหตุหลัก
มาจากการขาดความเข้าใจเรื่องการคงอยู่ของวัตถุ (object permanent) 


และจะยิ่งเพิ่มทวีจากความรู้สึกไม่มั่นคงในความรัก
และปัญหาการพัฒนาความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูหลักตั้งแต่วัยขวบปีก่อนหน้า


ซึ่งหากมีมากจนรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติ 
และ / หรือ ยาวนานต่อเนื่องจนพ้นวัย 5 ปี 
ควรได้รับการช่วยเหลือจากนักวิชาชีพต่อไป




วัยที่พ่อแม่พามาเข้าอนุบาล เป็นวัยที่เด็กกำลังรู้สึกกังวลต่อการแยกจากอย่างรุนแรง
การปฏิบัติของพ่อแม่ที่ถูกต้องจะช่วยให้ลูกรับมือ และลดความกังวลนี้ได้
อีกทั้งยังช่วยเตรียมลูกให้ไปโรงเรียนได้ดี
โดย..
สิ่งที่ไม่ทำกับเด็กคือ
1.  ห้ามแอบหนีหาย ไม่แกล้งแอบซ่อน ไม่แกล้งหลบ
ถ้าแม่เป็นนินจา แว่บหาย เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ เด็กจะยิ่งจับจ้องแม่ไว้


เมื่อแม่ต้องแยกจากเด็ก ก็ให้เดินจากไปให้เด็กเห็น 
จากกันด้วยรอยยิ้ม
ความมั่นใจของแม่จะลดความกังวลของลูกลง


เวลาพาลูกมาส่งให้คุณครูก็ให้พามาส่งอย่างสงบ ยิ้มให้ จากกันอย่างมีความสุข
บอกลูกว่า "แม่รักลูกนะ อยู่โรงเรียนกับคุณครูให้สนุก เดี๋ยวเย็นนี้ เราเจอกัน" 
แล้วจากไปโดยไม่ละล้าละลัง


หากแม่ไม่มั่นใจ  
มีสีหน้ากังวล 
รู้สึกพะว้าพะวัง 
เดินไปด้วยท่าทีละล้าละลัง  คอยหันมามอง 
จะยิ่งทำให้เด็กกังวลและร้องมาก และนานขึ้น


หากจากกันด้วยความรู้สึกไม่ดี มีเรื่องหงุดหงิดกัน 
เด็กจะคิดกังวลทั้งวันจนไม่เป็นอันเรียน


อาการนี้จะลดลง 
ถ้าหากแม่ได้ปรับความเข้าใจกับลูกก่อนจะมาส่งเขาที่โรงเรียน




ในเวลาเลิกเรียน 
ถ้าลูกออกมาแล้วเจอแม่รออยู่ ลูกก็จะมั่นใจมากขึ้น
แต่ถ้าออกมาแล้วไม่เจอ  เด็กจะเริ่มใจเสีย
และเป็นกังวลมากขึ้นในวันต่อๆ ไป


ดังนั้น ในสัปดาห์แรกของเด็กเล็ก ต้องมารอรับลูกก่อนเวลาเลิก 
ให้ลูกออกมาแล้วเจอแม่รออยู่ 
ไม่ใช่ให้ลูกออกมายืนหาแม่





2.  ไม่เร้าให้เกิดความกังวล คือ ไม่ขู่ 3 เรื่องนี้เด็กขาดคือ 
 ขู่ว่า..  


o จะไม่รัก อย่าเอาความรักมาต่อรอง


o จะทอดทิ้ง  
แม้ว่าเขาเองจะบอกว่า "ไม่รักแม่ ไม่อยากอยู่กับแม่ อยากไปอยู่กับคนอื่น" แม่ก็ต้องยืนยันว่า หนูอาจรู้สึกไม่รักตอนนี้  แต่แม่รักหนูนะ"  
"หนูอาจรู้สึกไม่อยากอยู่กับแม่ตอนนี้ แต่หนูเป็นลูกแม่ต้องอยู่กับแม่” 
เด็กยังอยู่ในช่วงจินตนาการ เมื่อถูกขัดใจเขาก็อาจสงสัยว่า 
เขาเป็นลูกของแม่จริงหรือเปล่า 


รวมถึงบางบ้านก็เล่นพิเรนทร์  
แกล้งหลอกเด็กด้วยความสนุกว่า "ไม่ใช่ลูกของพ่อแม่หรอก"
ก็จะยิ่งทำให้เด็กหวั่นไหวใจ


ดังนั้น ต้องให้เด็กรู้สึกมั่นใจในความรัก และความปลอดภัย 
ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น และ สงบ มั่นคง สม่ำเสมอ

o จะตัดทิ้ง มือนี้วุ่นวายนัก เดี๋ยวจะตัดทิ้งเสียเลย” 
เด็กในวัยนี้จะมีความกลัวต่อการถูกตัดอวัยวะ (castration fear) 
ซึ่งในกรณีเด็กที่ต้องได้รับการผ่าตัด ถ้าเราไม่เตรียมเขาให้ดี เขาจะกลัวและกังวลมาก การใช้ role play จะช่วยได้มาก


o ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่พูดให้เด็กรู้สึกกังวล หรือรู้สึกผิด 
เด็กที่มีความกังวล เศร้า กลัว จะแสดงอาการต่างจากผู้ใหญ่ 
คือมักไม่แสดงออกตรงๆ  แต่จะมัก ซน วุ่นวาย ก้าวร้าว มากขึ้น 
การสังเกตของผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดจะช่วยให้เราช่วยเหลือเด็กได้เร็ว



นอกจากนี้  สิ่งที่พ่อแม่ควรปฏิบัติเพื่อช่วยให้ลูกรับมือ และผ่านพ้นความกังวลในการแยกจาก และเตรียมลูกไปโรงเรียนได้ดีขึ้น คือ


o เล่นจ๊ะเอ๋ 


o เล่นซ่อนของ  ซ่อนให้เด็กหาเจอ 


o เล่นซ่อนหา 


การเล่นเหล่านี้ เขาจะชอบมาก และอยากเล่นอีก
เด็กเข้าใจเรื่องการคงอยู่ของวัตถุ สิ่งที่มองไม่เห็นนั้น แท้จริงยังคงอยู่


o การฝึกเด็กให้ช่วยเหลือตัวเองได้ 
เด็กที่รู้ตัวว่าต้องพึ่งพิงการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในทุกเรื่อง
ย่อมมีความกังวลมากเมื่อต้องแยกจากผู้ใหญ่ 
ตรงกันข้ามกับเด็กที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
จะกังวลน้อย และคลายจากการกังวลได้เร็วกว่า




วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

ขวบปีแรกของชีวิต...หยั่งรากแห่งรักให้มั่นคง

เข้าใจพัฒนาการเด็ก 

ขวบปีแรก: ต้องการความช่วยเหลือทุกอย่าง


ยังช่วยตัวเองไม่ได้ 
ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นในทุกเรื่อง 
ถ้าไม่ได้ ก็จะรู้สึกกลัว ไม่มั่นคง ชีวิตของ ‘ฉัน’ ขึ้นอยู่กับคนอื่น

เพราะฉะนั้นการเลี้ยงดูเด็กในวัยขวบปีแรก 
พ่อแม่จำเป็นต้องใช้การสังเกตเพื่อให้การตอบสนองที่..
  ตรงกับความต้องการ
  ทันท่วงที
  สม่ำเสมอ

เด็กจึงจะเกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย

“ชีวิตนี้ฉันไม่ต้องกลัวอะไรอีกแล้ว 
เพราะเมื่อฉันต้องการอะไร มีคนที่ตอบสนองฉันได้ 
ฉันจะตะลุยไปข้างหน้าได้” 

เพราะเด็กจะรู้สึกมั่นคงว่ายังมีคนที่จะช่วยฉันเสมอ
และจะพัฒนาเป็นความผูกพัน (Attachment) ที่มีต่อพ่อแม่ไปตลอดชีวิต


ความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยนี้ 
เป็นฐานสำคัญของความรู้สึกวางใจในโลก 
ทำให้คนเรามั่นใจในการเผชิญกับบุคคล และสถานการณ์ต่างๆ ได้

ส่วนความผูกพันกับพ่อแม่ 
เป็นฐานสำคัญของความรู้สึกไว้วางใจในบุคคล
พัฒนาความเห็นอกเห็นใจ (empathy) 
รู้จักคิด และรู้สึกจากมุมของผู้อื่น 
จึงจะสามารถมองเห็นคุณค่าของผู้อื่น 
สามารถสร้างมนุษยสัมพันธ์ได้ 
สามารถเชื่อมโยงกับบุคคลอื่น (relating to others)

พัฒนาความสามารถที่จะรัก และรับความรักจากผู้อื่นได้ (to loved and be loved) 
และยังเป็นเสาเอกของจริยธรรมสำคัญ... ‘ความกตัญญู’ 


การสัมผัสอุ้มชูเด็กของพ่อแม่ 
นอกจากจะมีผลกระตุ้นพัฒนาการของสมองแล้ว
วิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อลูกด้วยความอ่อนโยน และเปี่ยมด้วยความรักนี้
จะส่งผลให้เด็กรับรู้ว่าตนเองเป็นที่รักของบุคคลอื่น 

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem)


นอกจากนี้ การที่พ่อแม่สังเกตและแยกแยะรายละเอียดพฤติกรรมของเด็กได้ 
‘อ่าน’ออกว่าเด็กต้องการอะไร และตอบสนองได้ตามนั้น 
เท่ากับเป็นการเสริมแรง (reinforcement) 
ให้เด็กเรียนรู้ที่มีพฤติกรรมซ้ำเดิมเมื่อมีความต้องการเช่นเดิม

นั่นคือเด็ก และพ่อแม่ เริ่มกำหนดแบบแผนของการสื่อสารระหว่างกันขึ้น
และนี่คือจุดเริ่มแรกของการเรียนรู้ และใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของเด็ก 

การพัฒนาปฏิสัมพันธ์ทำให้สมองของเด็กได้รับการกระตุ้นโดยธรรมชาติ 
สมองมนุษย์จะพัฒนาต่อภายหลังคลอด 
ซึ่งต่างจากของสัตว์ที่พัฒนามาตั้งแต่ในท้องแม่
ลูกสัตว์เกิดใหม่จึงเดินได้วิ่งได้เลย 


การพัฒนาของสมองมนุษย์ภายหลังคลอดนี้จำเป็นต้องได้รับประสบการณ์ตรง 
ต้องการโอกาสในการทำงาน
ซึ่งสมองทำงานอยู่ 2 อย่าง คือ
  รับรู้
  สั่งงาน 

เพราะฉนั้น การให้การสัมผัส (sensory inputs) แก่เด็ก
โดยการสัมผัส อุ้มชู กอดหอม ฯลฯ
จึงเป็นการกระตุ้นเด็กพัฒนาการของสมองเด็กโดยตรง

จากนั้นเด็กจะฝึกบังคับสั่งการร่างกายตนเองให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ 
เช่น การหันตามเสียง การเอื้อมมือคว้าจับ การมองหน้า และเลียนแบบสีหน้าของแม่ ฯลฯ 

ซึ่งการมีสิ่งเร้าที่เหมาะสม และเพียงพอ 
จะกระตุ้นให้สมองสั่งงานร่างกายได้รวดเร็ว คล่องแคล่วขึ้น