บทความเพื่อการเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป

บทความถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
สงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ ดัดแปลง หรือคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความก่อนได้รับอนุญาต

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลูกกัดเล็บ ช่วยอย่างไร

มีผู้ปกครองถามถึงเรื่องลูกกัดเล็บ  ว่าจะแก้ไขอย่างไร

 

“ครูประจำชั้นบอกลูกกัดเล็บเป็นประจำ เล็บกุดหลายเล็บไม่ต้องตัดเลย

เวลาอยู่บ้านก็กัดบ้าง
ต้องคอยเตือน


ถ้าอยู่บนรถนาน ๆ ไม่มีอะไรทำ ก็จะกัดเหมือนกัน

ถามหลายครั้งแล้วว่ารู้สึกอะไรตอนกัด
 ก็ยังไม่ได้คำตอบ  
ทำไงดี”

 

ผมก็ตอบไปว่า..

 

เรื่องกัดเล็บ
 คุยต่อเรื่องสาเหตุ ค่อยๆถาม และให้ตัวเลือกถ้าจำเป็น

คุยถึงความจำเป็นที่ต้องเลิก
(โดยเฉพาะในเด็กโต)

ถ้าอยากเลิกเองด้วย  ก็หาวิธีช่วยเตือน


ถ้ายังไม่คิดจะเลิกเอง (โดยเฉพาะในเด็กเล็ก) ก็ต้องหากิจกรรมเบี่ยงเบน

เปลี่ยนความสนใจจากการกัดเล็บ ไปสู่กิจกรรมที่ต้องใช้มือทำ

ทำบ่อย ทำซ้ำ จนไม่เกิดความเคยชินที่จะกัดเล็บ

ไม่ใช้การลงโทษรุนแรง เช่นการ ตวาด ดุว่า ตี ขู่ ฯลฯ จนวิตกหวาดกลัว

เพราะจะยิ่งเพิ่มความถี่ของพฤติกรรมที่มีสาเหตุจากความเครียดให้มากขึ้นได้

 

สังเกตอารมณ์ และทำงานอารมณ์ให้ทันท่วงที

ก่อนที่ลูกจะต้องใช้การกัดเล็บช่วยบรรเทา

 

……….

 

“เคยถามสาเหตุและให้ตัวเลือก
 แต่ลูกไม่ตอบ

ให้ตัวเลือกอะไรได้บ้าง
 แล้วจะเตือนที่ รร. ได้อย่างไร”

 

หากถามแล้ว  ให้ตัวเลือกแล้ว แต่ลูกยังไม่ตอบ

ก็ค่อยๆ ตะล่อมถามต่อไปครับ  ใช้ท่าทีชวนคุย

หรือจะใช้ท่าทีจริงจัง

ก็แล้วแต่ว่า เราเดาว่าสาเหตุมาจากอะไร*

ก็คงต้องทดลองใช้นะครับ

 

ก็ชวนมองต่อถึงสาเหตุอีกนิดนะครับ ว่าที่ลูกไม่ตอบนั้น..

เป็นเพราะหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้

(ไม่รู้จักตัวเองดีพอ ขาดโอกาสได้ฝึกคิดเชื่อมโยง ถึงสาเหตของสิ่งต่างๆ ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีสาเหตุเสมอ)   

ซึ่งอาจมองต่อได้ว่าเราเปิดโอกาสให้ลูกได้รับประสบการณ์ และการเรียนรู้ทั้งภายนอก และภายในมาก และครบถ้วนหรือยัง เพียงใด

รวมถึงการชวนคิด ชวนคุย ชวนเล่น ที่ท้าทายให้ลูกคิดเชื่อมโยงในระดับเหตุผล

และต้องนำพาลูกไปต่อให้ถึงระดับ “1 เรื่อง มาได้จากหลายเหตุ” *

เพื่อให้ลูกคิดหลากหลาย และยืดหยุ่นได้ในทุกเรื่อง 

ไม่ติดหล่มพัฒนาการ  จนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ ได้แต่คิดตายตัว ยึดติดยึดมั่นไป  คิดยืดหยุ่นไม่เป็น

 

หรือ

ลูกยังจับความรู้สึกตัวเองยังไม่ได้ บอกกล่าวความรู้สึกตัวเองได้ไม่ดี

(อาจจะทำได้แค่ในบางความรู้สึก  หรือลูกขาดโอกาสได้ฝึกสังเกตตัวเองในเรื่องความรู้สึก?)  

ถึงเวลาต้องช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองเพิ่ม

โดยเฉพาะการจับสังเกตคามรู้สึกและระบุได้ เห็นที่มาของมัน*, **

เพราะความรู้สึกเป็นแรงขับเคลื่อนใหญ่ ในการผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์

ถ้ายังติดหล่มพัฒนาการ

เมื่อเด็กไม่เคยสังเกต

เมื่อโตก็ย่อมไม่รู้ ไม่ทัน ไม่เห็นตัวเอง

ก็อาละวาดฟาดงวงฟาดงา ใส่ใครต่อใครไปทั่วได้

หรือ

ลูกรู้สึกไม่ดี อาย ผิด ที่ตัวเองกัดเล็บ จนไม่อยากพูดถึง 

(ลูกไม่มีวิธีอื่นที่จะจัดการอารมณ์นอกจากกัดเล็บ แม้รู้ว่าเราไม่ชอบ และลูกเองก็รู้สึกไม่ดีกับสิ่งนั้น /  เราเองมีท่าทีปฏิเสธ ไม่ยอมรับอารมณ์ หรือสถานการณ์ของลูก ดุเร็วเกินไป)

ชวนเราเองมองย้อนต่อมาได้ถึงสัมพันธภาพระหว่างเรากับลูก

อะไรทำให้ลูกไม่กล้าบอกเล่า 

ประสบการณ์ และความสามารถของลูกในการคิดว่าทางออกอื่นๆ สำหรับตัวเอง มีเพียงพอหรือไม่

 

หรือ

รู้สึกดีที่ถูกใส่ใจ  รู้สึกสำคัญ  รู้สึกสนุก ที่ถูกถาม  จนอยากเก็บไว้นานๆ  

(ลูกยังกังวลต่อความรัก ตั้งข้อสงสัยต่อการดูแลจากเรามากน้อยเพียงใด ลูกมีวิธีในการทดสอบความจริงเหล่านั้นอย่างผู้มีสุขภาพเพียงใด)

เราเล่นสนุกด้วยกันกับลูกเพียงพอหรือไม่  

การเคลียร์ความรู้สึกสงสัย ตกค้าง เรื่องความใส่ใจ ความรักเพียงพอหรือไม่

หรือเด็กยังต้องทดสอบ* อยู่

 

หรือ

รู้สึกดี รู้สึกสนุกที่ถูกถาม  จนอยากเก็บไว้นานๆ 

(ความสามารถในการแยกจริง แยกเล่นของลูกดีเพียงใด

ความสามารถในการหยุดในเวลาอันเหมาะอันควร มีมากน้อยเพียงไร)

มีท่าทีให้รู้ว่าเรื่องนี้จริงจัง เพียงพอหรือไม่

 

ฯลฯ 

หรือเปล่า

 

 

เมื่อมองในแง่การช่วยเหลือลูกในวิถีที่ยั่งยืน

ก็หมายความว่า  เรื่อง"ถามสาเหตุของการกัดเล็บ" นี้ 

ไม่ใช่แค่เรื่องถามตอบเรื่องการกัดเล็บแล้ว  

แต่กลายเป็นโอกาสให้เรา (และตัวลูกเอง)

ได้เห็นลูกเพิ่มมากขึ้น  

และเห็นสิ่งที่ต้องทำต่อ เพื่อช่วยลูก ได้มากขึ้นด้วย

เห็นสิ่งที่ต้องทำอีกยาวนาน

เพื่อนำพาลูกพ้นหล่มชีวิต* ที่วางดักไว้ตลอดเส้ทางพัฒนาการของลูก และของเรา

 

และในระหว่างถาม  หากตอบไม่ได้ ก็ช่วยโดยให้ตัวเลือกถ้าจำเป็น

จะให้ตัวเลือกได้  เราเองก็ต้องจินตนาการได้หลากหลาย กว้างไกล

นั่นคือต้องฝึกตนเองให้มีสายตายาวไกล

ไม่มองตื้นๆ ใกล้ๆ แค่เหตุการณ์ หรือภาพตรงหน้า*

และแม้จะมีคำพูดหลุดมาจากปากลูก

ก็อาจต้องเอะใจได้ว่าจริงหรือไม่ หรือพูดไปงั้น

ดูได้จากความสอดคล้องต้องกับลักษณะดั้งเดิมของลูก ที่เรารู้จัก คุ้นเคย ว่าสอดคล้องหรือไม่

หรือมีอะไรแปลกไปชวนให้เอะใจสงสัยว่า ปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นใหม่ อาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด

 

 

สำหรับคุณครู

ก็ขอความช่วยเหลือ  โดยสังเกตภาวะที่เด็กมักจะกัดเล็บ  

ความรู้สึก  เหตุการณ์  สถานการณ์ ที่เด็กเผชิญอยู่ ณ เวลานั้นๆ

กัดเล็บเมื่อว่างๆ  เมื่อพบความกดดัน  เมื่ออยากให้คนใส่ใจ  เมื่อเครียด  เมื่อเพลิน  ฯลฯ

เพื่อเราจะมีข้อมูลมากขึ้นในการค้นหาสาเหตุครับ

 

กับเด็ก..  คุยถึงความจำเป็นที่ต้องเลิก

ถ้าอยากเลิกเองด้วย  ก็หาวิธีช่วยเตือน และให้กำลังใจ *

ถ้ายังไม่คิดจะเลิกเอง ก็ต้องหากิจกรรมเบี่ยงเบนไปจากการกัดเล็บ  

ไม่ให้คุ้นชินกับการกระทำดังกล่าวจนเป็นความเคยชิน จนเป็นนิสัยแก้ยากในอนาคต

 

เพิ่มการสังเกตอารมณ์
 ** และทำงานอารมณ์กับลูกให้ทันท่วงที


ก่อนที่เขาจะต้องใช้การกัดเล็บช่วยบรรเทาอารมณ์ดังกล่าว

 

 

 

ย้ำอีกครั้งว่า เพื่อสร้างหลักประกันให้กับอนาคตของลูก

เราต้องมองให้ไกลกว่าพฤติกรรม ปรากฏการณ์ตรงหน้า*,***

มองให้เห็นข้อติดขัด และที่สำคัญ ทักษะที่ต้องเสริมเพิ่ม

เพื่อให้ลูกได้พัฒนาต่อเนื่อง

จนสุดท้ายคือ อยู่ในโลกนี้ได้อย่างภาคภูมิ เต็มศักดิ์ศรี

มีวิธีผ่านข้ามความผิดหวัง ทุกข์ใจได้ด้วยสุขภาพใจที่แข็งแรง

ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการไม่ชอบมาพากล วิธีการที่เสียสุขภาพจิต มาดำรงตนในโลกนี้

 

 

 

หมายเหตุ :

หากต้องการเรียนรู้พิ่มเติม  อาจขวนขวายได้จากหนังสือ ตำรา ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดู

หรือพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งชำนาญเรื่องการแก้ไขปัญหาพฤติกรรม - อารมณ์ของเด็ก

*    หรือเข้ารับการอบรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู และการกำกับวินัยเชิงบวก

     (อาทิ การอบรม”ฝึกวิทยายุทธ์ สกัดจุดลูกจอมเฮี้ยว”)

**  หรือเข้ารับการอบรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และทำงานอารมณ์

     (อาทิ ค่ายอยู่กับลูกให้สนุก)

*** หรือเข้ารับการอบรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเข้าใจตนเองและผู้อื่น

     (อาทิ ค่ายดูแลผู้หล่อเลี้ยง)

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น