บทความเพื่อการเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป

บทความถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
สงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ ดัดแปลง หรือคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความก่อนได้รับอนุญาต

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การฝึกเขียนสำหรับเด็กปฐมวัย

หนึ่งในข้อปรึกษายอดฮิตจากผู้ปกครอง  คือเรื่องการฝึกเขียน

ผมก็มักตอบไปในทำนองนี้ครับ..

 

ขอให้มองการเขียนเป็นผลปลายทาง

จะได้มาก็เมื่อความพร้อมของกล้ามเนื้อ

การประสานสัมพันธ์

การวางแผนการทำงานของกล้ามเนื้อ

และการทำงานร่วมตา-มือ ได้มาครบถ้วน

 

อยากได้การเขียน ต้องฝึกนิ้วและมือ

ถ้าฝึกเขียน จะได้การเขียนอย่างเดียว

แต่สูญเสียโอกาสเรื่องอื่นที่หลากหลาย

ถ้าฝึกทักษะที่หลากหลาย

จะได้การเขียนด้วย

 

มีเรื่องเล่าจากผู้ปกครองว่า

สังเกตเห็นว่าลูกมีความลำบากในการจับดินสอด้วย 3 นิ้ว  แต่จะใช้การกำดินสอแทน

และสังเกตเห็นว่า เมื่อลูกได้”เล่น” ของเล่นที่มีการใช้มือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นิ้ว” ที่เพียงพอ

ลูกก็จับดินสอด้วย 3 นิ้ว ได้ถูกวิธี ด้วยตัวลูกเอง

 

สรุปเสร็จแล้วก็เสียดายรสมือ และในข้อความดีๆ จากผู้ปกครองท่านนั้น

จึงขออนุญาตยกบางข้อความที่น่าจะเป็นประโยชน์มาทั้งช่วง

เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรายละเอียด และ อรรถรสไปด้วย ดังนี้..

 

“หนึ่งในความสามารถที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ก็คือ 

การที่มนุษย์สามารถควบคุมนิ้วมือให้สามารถทำงานละเอียดได้ 

ซึ่งงานที่ละเอียดนี้เองก็จะสะท้อนกลับทำให้มนุษย์พัฒนาตัวเองได้ดีขึ้นและเมื่อพัฒนาดีขึ้น

 ก็สามารถทำงานที่ละเอียดเพิ่มขึ้นสะท้อนไปสู่การพัฒนาที่สูงขึ้นกลับไปกลับมาเรื่อยๆ”

 

“ช่วงแรกเราพยายามจับมือลูกให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง 

ทั้งการจับดินสอและการจับช้อน-ส้อม แต่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยเป็นผลนัก 

เพราะว่าลูกก็จับได้อยู่สักพัก พอเขียนมันส์ๆ กินเพลินๆ ก็กลับไปจับแบบเดิมอีก 

เราก็ทัก พอทักลูกก็พยามยามกลับไปจับแบบสามนิ้วใหม่ พอสักพักก็จับรวบแบบเดิม 

อีกทั้งเราสังเกตว่าวิธีการจับแบบสามนิ้วของลูกก็ยังไม่ค่อยถูกต้องนักแม้เราจะพยามจัดท่าให้หลายครั้งแล้วก็ตาม”

 

“วันเวลาผ่านไป เราเองก็พยามฝึกไปเรื่อยๆ ในชีวิตแบบปกติ ซึ่งก็ไม่ค่อยมีมรรคมีผลอะไร

จนกระทั่งเมื่อวานนี้เราวาดรูปเล่นกัน 

พ่อสังเกตได้ว่า เอ๊ะ! นี่ลูกจับปากกาถูกต้องแล้วนี่หว่า แถมจับถูกต้องตลอดการวาดรูปด้วย

พ่อกับแม่พยายามนึกว่า พรอันประเสริฐหรือบุญอันใดหนอที่ทำให้ลูกทำได้แบบนี้

แล้วเราก็นึกได้…”

 

“ตอนช่วงสงกรานต์เราซื้อของเล่นชิ้นนึงให้ลูกเป็นเรือถอดประกอบได้… 

พอกลับมาบ้านพ่อเป็นคนต่อให้ ลูกก็แค่ถือไปมา เอาเรือไปลอยน้ำเล่นแค่นั้นไม่มีอะไรพิเศษ

แต่อยู่มาวันหนึ่ง ลูกจับมันถอดเป็นชิ้นๆ แล้วก็นั่งประกอบใหม่เอง 

พ่อค่อนข้างมหัศจรรย์ใจเล็กน้อย เผลอครางในใจเบาๆว่า "เออ มันเก่งเว้ย"

 

แล้วลูกก็ชอบเอามันมาแกะเล่น ประกอบใหม่อยู่บ่อยๆด้วยคีมของเล่นที่ให้มาด้วย 

ตลอดเวลาที่นั่งแกะประกอบ ลูกจะมีสมาธิ เอาชิ้นส่วนเล็กๆมายึด ต่อ ถอด ดึง เข้าด้วยกัน 

และสามารถประกอบกลับได้คล่องและเรียบร้อยขึ้นเรื่อยๆ…”

 

“พ่อคิดว่าการทำงานของนิ้วมือสามนิ้วคงพัฒนาขึ้นมาตอนจับคีมถอดประกอบของเล่นนี่แหละ

การที่ลูกโตขึ้นก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความพร้อมทางกายภาพมีมากขึ้น 

แต่ครอบครัวเรามั่นใจว่าเรื่องคลื่น alfa และ Floortime ก็คงมีส่วน

การที่ลูกมีโอกาสได้จดจ่อ  ได้ฝึก SI  ได้เห็นความสำเร็จ มีทักษะเพิ่มขึ้น ผ่านการเล่นนี้ มันเห็นผลมากกว่าการจับมือทำมากนัก

การฝึกฝนใดๆควรจะมีความสุขเป็นเอกสารที่แนบไปด้วยจึงจะได้รับการอนุมัติ”

 

ต้องขอบคุณเรื่องที่เล่ามา เป็นตัวอย่างที่ดี

เรื่องเล่านี้  การพัฒนาของลูกมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน

 

หนึ่งคือ..

เมื่อทักษะที่จำเป็นได้รับการพัฒนา

เรื่องเขียน ก็เป็นเรื่องจิ๊บๆ

และสอง..

การฝึกฝนใดๆ  การพัฒนาส่วนอ่อนด้อยใดๆ

ต้องอาศัยความสุข สนุกสนาน

 

……………………………………………….

 

แล้วก็มักตามมาด้วยคำถามเกี่ยวกับของเล่น

ผมก็มักให้คำตอบว่า…

 

ของเล่นที่ซับซ้อน

อยู่ในการเล่นสมมุติ ด้วยวัสดุธรรมชาติรอบๆ ตัว

และอยู่ในการทำงานบ้าน

ด้วยกันกับผู้ใหญ่ที่เขารัก และวางใจ

 

ของเล่นหาซื้อได้

ความสามารถต้องกระทำ

 

ทักษะไม่มีขาย

อยากได้ต้องลงมือ

 

หมายเหตุ  : 

เรื่องคลื่น Alpha  เรื่อง Floortime  และ  เรื่อง SI  ที่ผู้ปกครองท่านนี้เอ่ยถึง คืออะไรนั้น

ผมคงจะได้มาเขียนเล่าเพิ่มเติมเมื่อมีโอกาส  ก็รอติดตามนะครับ  

อาจจะนานหน่อย  ตามเวลา และความพร้อมที่มีครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น