บทความเพื่อการเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป

บทความถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
สงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ ดัดแปลง หรือคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความก่อนได้รับอนุญาต

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

Seperation Anxiety

ความรู้สึกกังวลต่อการแยกจาก หรืออาการติดแม่นี้ 
เริ่มเกิดเมื่อประมาณ 8 เดือน
รุนแรงที่สุดเมื่ออายุราว 2-3 ปี และควรหมดไปก่อนอายุ 5 ปี



ในช่วงที่มีความกังวลมาก  อาจมีอาการ ติดแม่อย่างหนัก 
แม่ไปไหนต้องเกาะติดไปด้วยไม่ยอมแยกจากแม้ช่วงสั้นๆ 
เช่น แม่เข้าห้องน้ำก็ต้องตามเข้าไปด้วย


ความกังวลนี้มีสาเหตุหลัก
มาจากการขาดความเข้าใจเรื่องการคงอยู่ของวัตถุ (object permanent) 


และจะยิ่งเพิ่มทวีจากความรู้สึกไม่มั่นคงในความรัก
และปัญหาการพัฒนาความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูหลักตั้งแต่วัยขวบปีก่อนหน้า


ซึ่งหากมีมากจนรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติ 
และ / หรือ ยาวนานต่อเนื่องจนพ้นวัย 5 ปี 
ควรได้รับการช่วยเหลือจากนักวิชาชีพต่อไป




วัยที่พ่อแม่พามาเข้าอนุบาล เป็นวัยที่เด็กกำลังรู้สึกกังวลต่อการแยกจากอย่างรุนแรง
การปฏิบัติของพ่อแม่ที่ถูกต้องจะช่วยให้ลูกรับมือ และลดความกังวลนี้ได้
อีกทั้งยังช่วยเตรียมลูกให้ไปโรงเรียนได้ดี
โดย..
สิ่งที่ไม่ทำกับเด็กคือ
1.  ห้ามแอบหนีหาย ไม่แกล้งแอบซ่อน ไม่แกล้งหลบ
ถ้าแม่เป็นนินจา แว่บหาย เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ เด็กจะยิ่งจับจ้องแม่ไว้


เมื่อแม่ต้องแยกจากเด็ก ก็ให้เดินจากไปให้เด็กเห็น 
จากกันด้วยรอยยิ้ม
ความมั่นใจของแม่จะลดความกังวลของลูกลง


เวลาพาลูกมาส่งให้คุณครูก็ให้พามาส่งอย่างสงบ ยิ้มให้ จากกันอย่างมีความสุข
บอกลูกว่า "แม่รักลูกนะ อยู่โรงเรียนกับคุณครูให้สนุก เดี๋ยวเย็นนี้ เราเจอกัน" 
แล้วจากไปโดยไม่ละล้าละลัง


หากแม่ไม่มั่นใจ  
มีสีหน้ากังวล 
รู้สึกพะว้าพะวัง 
เดินไปด้วยท่าทีละล้าละลัง  คอยหันมามอง 
จะยิ่งทำให้เด็กกังวลและร้องมาก และนานขึ้น


หากจากกันด้วยความรู้สึกไม่ดี มีเรื่องหงุดหงิดกัน 
เด็กจะคิดกังวลทั้งวันจนไม่เป็นอันเรียน


อาการนี้จะลดลง 
ถ้าหากแม่ได้ปรับความเข้าใจกับลูกก่อนจะมาส่งเขาที่โรงเรียน




ในเวลาเลิกเรียน 
ถ้าลูกออกมาแล้วเจอแม่รออยู่ ลูกก็จะมั่นใจมากขึ้น
แต่ถ้าออกมาแล้วไม่เจอ  เด็กจะเริ่มใจเสีย
และเป็นกังวลมากขึ้นในวันต่อๆ ไป


ดังนั้น ในสัปดาห์แรกของเด็กเล็ก ต้องมารอรับลูกก่อนเวลาเลิก 
ให้ลูกออกมาแล้วเจอแม่รออยู่ 
ไม่ใช่ให้ลูกออกมายืนหาแม่





2.  ไม่เร้าให้เกิดความกังวล คือ ไม่ขู่ 3 เรื่องนี้เด็กขาดคือ 
 ขู่ว่า..  


o จะไม่รัก อย่าเอาความรักมาต่อรอง


o จะทอดทิ้ง  
แม้ว่าเขาเองจะบอกว่า "ไม่รักแม่ ไม่อยากอยู่กับแม่ อยากไปอยู่กับคนอื่น" แม่ก็ต้องยืนยันว่า หนูอาจรู้สึกไม่รักตอนนี้  แต่แม่รักหนูนะ"  
"หนูอาจรู้สึกไม่อยากอยู่กับแม่ตอนนี้ แต่หนูเป็นลูกแม่ต้องอยู่กับแม่” 
เด็กยังอยู่ในช่วงจินตนาการ เมื่อถูกขัดใจเขาก็อาจสงสัยว่า 
เขาเป็นลูกของแม่จริงหรือเปล่า 


รวมถึงบางบ้านก็เล่นพิเรนทร์  
แกล้งหลอกเด็กด้วยความสนุกว่า "ไม่ใช่ลูกของพ่อแม่หรอก"
ก็จะยิ่งทำให้เด็กหวั่นไหวใจ


ดังนั้น ต้องให้เด็กรู้สึกมั่นใจในความรัก และความปลอดภัย 
ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น และ สงบ มั่นคง สม่ำเสมอ

o จะตัดทิ้ง มือนี้วุ่นวายนัก เดี๋ยวจะตัดทิ้งเสียเลย” 
เด็กในวัยนี้จะมีความกลัวต่อการถูกตัดอวัยวะ (castration fear) 
ซึ่งในกรณีเด็กที่ต้องได้รับการผ่าตัด ถ้าเราไม่เตรียมเขาให้ดี เขาจะกลัวและกังวลมาก การใช้ role play จะช่วยได้มาก


o ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่พูดให้เด็กรู้สึกกังวล หรือรู้สึกผิด 
เด็กที่มีความกังวล เศร้า กลัว จะแสดงอาการต่างจากผู้ใหญ่ 
คือมักไม่แสดงออกตรงๆ  แต่จะมัก ซน วุ่นวาย ก้าวร้าว มากขึ้น 
การสังเกตของผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดจะช่วยให้เราช่วยเหลือเด็กได้เร็ว



นอกจากนี้  สิ่งที่พ่อแม่ควรปฏิบัติเพื่อช่วยให้ลูกรับมือ และผ่านพ้นความกังวลในการแยกจาก และเตรียมลูกไปโรงเรียนได้ดีขึ้น คือ


o เล่นจ๊ะเอ๋ 


o เล่นซ่อนของ  ซ่อนให้เด็กหาเจอ 


o เล่นซ่อนหา 


การเล่นเหล่านี้ เขาจะชอบมาก และอยากเล่นอีก
เด็กเข้าใจเรื่องการคงอยู่ของวัตถุ สิ่งที่มองไม่เห็นนั้น แท้จริงยังคงอยู่


o การฝึกเด็กให้ช่วยเหลือตัวเองได้ 
เด็กที่รู้ตัวว่าต้องพึ่งพิงการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในทุกเรื่อง
ย่อมมีความกังวลมากเมื่อต้องแยกจากผู้ใหญ่ 
ตรงกันข้ามกับเด็กที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
จะกังวลน้อย และคลายจากการกังวลได้เร็วกว่า




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น