บทความเพื่อการเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป

บทความถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
สงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ ดัดแปลง หรือคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความก่อนได้รับอนุญาต

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

Seperation Anxiety

ความรู้สึกกังวลต่อการแยกจาก หรืออาการติดแม่นี้ 
เริ่มเกิดเมื่อประมาณ 8 เดือน
รุนแรงที่สุดเมื่ออายุราว 2-3 ปี และควรหมดไปก่อนอายุ 5 ปี



ในช่วงที่มีความกังวลมาก  อาจมีอาการ ติดแม่อย่างหนัก 
แม่ไปไหนต้องเกาะติดไปด้วยไม่ยอมแยกจากแม้ช่วงสั้นๆ 
เช่น แม่เข้าห้องน้ำก็ต้องตามเข้าไปด้วย


ความกังวลนี้มีสาเหตุหลัก
มาจากการขาดความเข้าใจเรื่องการคงอยู่ของวัตถุ (object permanent) 


และจะยิ่งเพิ่มทวีจากความรู้สึกไม่มั่นคงในความรัก
และปัญหาการพัฒนาความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูหลักตั้งแต่วัยขวบปีก่อนหน้า


ซึ่งหากมีมากจนรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติ 
และ / หรือ ยาวนานต่อเนื่องจนพ้นวัย 5 ปี 
ควรได้รับการช่วยเหลือจากนักวิชาชีพต่อไป




วัยที่พ่อแม่พามาเข้าอนุบาล เป็นวัยที่เด็กกำลังรู้สึกกังวลต่อการแยกจากอย่างรุนแรง
การปฏิบัติของพ่อแม่ที่ถูกต้องจะช่วยให้ลูกรับมือ และลดความกังวลนี้ได้
อีกทั้งยังช่วยเตรียมลูกให้ไปโรงเรียนได้ดี
โดย..
สิ่งที่ไม่ทำกับเด็กคือ
1.  ห้ามแอบหนีหาย ไม่แกล้งแอบซ่อน ไม่แกล้งหลบ
ถ้าแม่เป็นนินจา แว่บหาย เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ เด็กจะยิ่งจับจ้องแม่ไว้


เมื่อแม่ต้องแยกจากเด็ก ก็ให้เดินจากไปให้เด็กเห็น 
จากกันด้วยรอยยิ้ม
ความมั่นใจของแม่จะลดความกังวลของลูกลง


เวลาพาลูกมาส่งให้คุณครูก็ให้พามาส่งอย่างสงบ ยิ้มให้ จากกันอย่างมีความสุข
บอกลูกว่า "แม่รักลูกนะ อยู่โรงเรียนกับคุณครูให้สนุก เดี๋ยวเย็นนี้ เราเจอกัน" 
แล้วจากไปโดยไม่ละล้าละลัง


หากแม่ไม่มั่นใจ  
มีสีหน้ากังวล 
รู้สึกพะว้าพะวัง 
เดินไปด้วยท่าทีละล้าละลัง  คอยหันมามอง 
จะยิ่งทำให้เด็กกังวลและร้องมาก และนานขึ้น


หากจากกันด้วยความรู้สึกไม่ดี มีเรื่องหงุดหงิดกัน 
เด็กจะคิดกังวลทั้งวันจนไม่เป็นอันเรียน


อาการนี้จะลดลง 
ถ้าหากแม่ได้ปรับความเข้าใจกับลูกก่อนจะมาส่งเขาที่โรงเรียน




ในเวลาเลิกเรียน 
ถ้าลูกออกมาแล้วเจอแม่รออยู่ ลูกก็จะมั่นใจมากขึ้น
แต่ถ้าออกมาแล้วไม่เจอ  เด็กจะเริ่มใจเสีย
และเป็นกังวลมากขึ้นในวันต่อๆ ไป


ดังนั้น ในสัปดาห์แรกของเด็กเล็ก ต้องมารอรับลูกก่อนเวลาเลิก 
ให้ลูกออกมาแล้วเจอแม่รออยู่ 
ไม่ใช่ให้ลูกออกมายืนหาแม่





2.  ไม่เร้าให้เกิดความกังวล คือ ไม่ขู่ 3 เรื่องนี้เด็กขาดคือ 
 ขู่ว่า..  


o จะไม่รัก อย่าเอาความรักมาต่อรอง


o จะทอดทิ้ง  
แม้ว่าเขาเองจะบอกว่า "ไม่รักแม่ ไม่อยากอยู่กับแม่ อยากไปอยู่กับคนอื่น" แม่ก็ต้องยืนยันว่า หนูอาจรู้สึกไม่รักตอนนี้  แต่แม่รักหนูนะ"  
"หนูอาจรู้สึกไม่อยากอยู่กับแม่ตอนนี้ แต่หนูเป็นลูกแม่ต้องอยู่กับแม่” 
เด็กยังอยู่ในช่วงจินตนาการ เมื่อถูกขัดใจเขาก็อาจสงสัยว่า 
เขาเป็นลูกของแม่จริงหรือเปล่า 


รวมถึงบางบ้านก็เล่นพิเรนทร์  
แกล้งหลอกเด็กด้วยความสนุกว่า "ไม่ใช่ลูกของพ่อแม่หรอก"
ก็จะยิ่งทำให้เด็กหวั่นไหวใจ


ดังนั้น ต้องให้เด็กรู้สึกมั่นใจในความรัก และความปลอดภัย 
ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น และ สงบ มั่นคง สม่ำเสมอ

o จะตัดทิ้ง มือนี้วุ่นวายนัก เดี๋ยวจะตัดทิ้งเสียเลย” 
เด็กในวัยนี้จะมีความกลัวต่อการถูกตัดอวัยวะ (castration fear) 
ซึ่งในกรณีเด็กที่ต้องได้รับการผ่าตัด ถ้าเราไม่เตรียมเขาให้ดี เขาจะกลัวและกังวลมาก การใช้ role play จะช่วยได้มาก


o ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่พูดให้เด็กรู้สึกกังวล หรือรู้สึกผิด 
เด็กที่มีความกังวล เศร้า กลัว จะแสดงอาการต่างจากผู้ใหญ่ 
คือมักไม่แสดงออกตรงๆ  แต่จะมัก ซน วุ่นวาย ก้าวร้าว มากขึ้น 
การสังเกตของผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดจะช่วยให้เราช่วยเหลือเด็กได้เร็ว



นอกจากนี้  สิ่งที่พ่อแม่ควรปฏิบัติเพื่อช่วยให้ลูกรับมือ และผ่านพ้นความกังวลในการแยกจาก และเตรียมลูกไปโรงเรียนได้ดีขึ้น คือ


o เล่นจ๊ะเอ๋ 


o เล่นซ่อนของ  ซ่อนให้เด็กหาเจอ 


o เล่นซ่อนหา 


การเล่นเหล่านี้ เขาจะชอบมาก และอยากเล่นอีก
เด็กเข้าใจเรื่องการคงอยู่ของวัตถุ สิ่งที่มองไม่เห็นนั้น แท้จริงยังคงอยู่


o การฝึกเด็กให้ช่วยเหลือตัวเองได้ 
เด็กที่รู้ตัวว่าต้องพึ่งพิงการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในทุกเรื่อง
ย่อมมีความกังวลมากเมื่อต้องแยกจากผู้ใหญ่ 
ตรงกันข้ามกับเด็กที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
จะกังวลน้อย และคลายจากการกังวลได้เร็วกว่า




วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

ขวบปีแรกของชีวิต...หยั่งรากแห่งรักให้มั่นคง

เข้าใจพัฒนาการเด็ก 

ขวบปีแรก: ต้องการความช่วยเหลือทุกอย่าง


ยังช่วยตัวเองไม่ได้ 
ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นในทุกเรื่อง 
ถ้าไม่ได้ ก็จะรู้สึกกลัว ไม่มั่นคง ชีวิตของ ‘ฉัน’ ขึ้นอยู่กับคนอื่น

เพราะฉะนั้นการเลี้ยงดูเด็กในวัยขวบปีแรก 
พ่อแม่จำเป็นต้องใช้การสังเกตเพื่อให้การตอบสนองที่..
  ตรงกับความต้องการ
  ทันท่วงที
  สม่ำเสมอ

เด็กจึงจะเกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย

“ชีวิตนี้ฉันไม่ต้องกลัวอะไรอีกแล้ว 
เพราะเมื่อฉันต้องการอะไร มีคนที่ตอบสนองฉันได้ 
ฉันจะตะลุยไปข้างหน้าได้” 

เพราะเด็กจะรู้สึกมั่นคงว่ายังมีคนที่จะช่วยฉันเสมอ
และจะพัฒนาเป็นความผูกพัน (Attachment) ที่มีต่อพ่อแม่ไปตลอดชีวิต


ความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยนี้ 
เป็นฐานสำคัญของความรู้สึกวางใจในโลก 
ทำให้คนเรามั่นใจในการเผชิญกับบุคคล และสถานการณ์ต่างๆ ได้

ส่วนความผูกพันกับพ่อแม่ 
เป็นฐานสำคัญของความรู้สึกไว้วางใจในบุคคล
พัฒนาความเห็นอกเห็นใจ (empathy) 
รู้จักคิด และรู้สึกจากมุมของผู้อื่น 
จึงจะสามารถมองเห็นคุณค่าของผู้อื่น 
สามารถสร้างมนุษยสัมพันธ์ได้ 
สามารถเชื่อมโยงกับบุคคลอื่น (relating to others)

พัฒนาความสามารถที่จะรัก และรับความรักจากผู้อื่นได้ (to loved and be loved) 
และยังเป็นเสาเอกของจริยธรรมสำคัญ... ‘ความกตัญญู’ 


การสัมผัสอุ้มชูเด็กของพ่อแม่ 
นอกจากจะมีผลกระตุ้นพัฒนาการของสมองแล้ว
วิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อลูกด้วยความอ่อนโยน และเปี่ยมด้วยความรักนี้
จะส่งผลให้เด็กรับรู้ว่าตนเองเป็นที่รักของบุคคลอื่น 

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem)


นอกจากนี้ การที่พ่อแม่สังเกตและแยกแยะรายละเอียดพฤติกรรมของเด็กได้ 
‘อ่าน’ออกว่าเด็กต้องการอะไร และตอบสนองได้ตามนั้น 
เท่ากับเป็นการเสริมแรง (reinforcement) 
ให้เด็กเรียนรู้ที่มีพฤติกรรมซ้ำเดิมเมื่อมีความต้องการเช่นเดิม

นั่นคือเด็ก และพ่อแม่ เริ่มกำหนดแบบแผนของการสื่อสารระหว่างกันขึ้น
และนี่คือจุดเริ่มแรกของการเรียนรู้ และใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของเด็ก 

การพัฒนาปฏิสัมพันธ์ทำให้สมองของเด็กได้รับการกระตุ้นโดยธรรมชาติ 
สมองมนุษย์จะพัฒนาต่อภายหลังคลอด 
ซึ่งต่างจากของสัตว์ที่พัฒนามาตั้งแต่ในท้องแม่
ลูกสัตว์เกิดใหม่จึงเดินได้วิ่งได้เลย 


การพัฒนาของสมองมนุษย์ภายหลังคลอดนี้จำเป็นต้องได้รับประสบการณ์ตรง 
ต้องการโอกาสในการทำงาน
ซึ่งสมองทำงานอยู่ 2 อย่าง คือ
  รับรู้
  สั่งงาน 

เพราะฉนั้น การให้การสัมผัส (sensory inputs) แก่เด็ก
โดยการสัมผัส อุ้มชู กอดหอม ฯลฯ
จึงเป็นการกระตุ้นเด็กพัฒนาการของสมองเด็กโดยตรง

จากนั้นเด็กจะฝึกบังคับสั่งการร่างกายตนเองให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ 
เช่น การหันตามเสียง การเอื้อมมือคว้าจับ การมองหน้า และเลียนแบบสีหน้าของแม่ ฯลฯ 

ซึ่งการมีสิ่งเร้าที่เหมาะสม และเพียงพอ 
จะกระตุ้นให้สมองสั่งงานร่างกายได้รวดเร็ว คล่องแคล่วขึ้น 

ขวบปีที่สอง...นักสำรวจตัวน้อย

ขวบปีที่ 2: ‘นักสำรวจวัยฉันกำลังจะเป็นตัวของฉันเอง

 ครั้งแรกของชีวิตที่เด็กยืนบนขาของตัวเองได้
 เด็ก หัดยืนบนขาของตัวเอง ทั้ง 2 นัย คือ
 ด้านร่างกาย
 เด็กพัฒนากล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น 
ระบบการทรงตัวดีขึ้น เด็กเริ่มสามารถรับน้ำหนักร่างกายของตนเอง และเคลื่อนที่ได้ ด้วยตนเอง 

 ด้านจิตใจ 
เด็กเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มพึ่งตัวเองได้
 แต่เมื่อร่างกาย และกล้ามเนื้อของเด็กพัฒนาขึ้นจนเด็กสามารถเคลื่อนทีได้เอง (คลาน เดิน) ความกังวลของแม่ก็เพิ่มขึ้น

 คำพูดติดปากแม่ในช่วงเวลานี้คือ อย่า 
นั่นคือครั้งแรกที่แม่เริ่มฝึกวินัยลูกโดยการวางกรอบ กำหนดขอบเขตของการกระทำให้แก่ลูกว่าสิ่งใดทำได้ และสิ่งใดที่ทำไม่ได้ และเป็นไปโดยธรรมชาติ

ดังนั้นการฝึกวินัยเด็กเริ่มได้ตั้งแต่เล็กอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 ไม่ใช่ต้อง รอให้โตก่อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ
 เพียงแต่เด็กในวัยนี้ความเข้าใจยังน้อย ยังควบคุมตัวเองให้รอคอย อดทนอดกลั้นยับยั้งชั่งใจได้น้อย
 จึงยังคาดหวังระเบียบวินัยจริงจังจากเด็กวัยนี้ไม่ได้ 

นอกจากนี้เด็กยังอยู่ภายใต้แรงขับสำคัญคื
การพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อ ความเป็นตัวของตัวเอง และความต้องการข้อมูลเพื่อที่สมองจะพัฒนาต่อไป จึงผลักดันให้เด็กในวัยนี้เป็นนักสำรวจที่ไม่อาจหยุดนิ่ง

 สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอย่างแรกเมื่อลูกย่างเข้าสู่วัยนี้คือ
 การจัดบ้านให้สิ่งแวดล้อมของเด็กปลอดภัยต่อการสำรวจ ปิดลิ้นชัก บานเลื่อน หรือฝาตู้ต่างๆ เก็บงำสิ่งของอันตรายต่างๆ ให้มิดชิดพ้นสายตาพ้นมือเด็ก

 เมื่อสิ่งแวดล้อมปลอดัยคำพูดห้ามปรามของพ่อแม่ก็จะลดลง จาก 100 % เหลือสัก 5% 
ดังนั้นเมื่อแม่ห้ามเด็กจะเชื่อฟัง เพราะ แม่นานๆ ห้ามที ไม่ได้ห้ามเป็นกิจวัตรจนเด็กหูทวนลม และ เพราะสิ่งที่ห้ามจะเป็นสิ่งอันตรายแท้จริงที่พ่อแม่ยังป้องกันไม่ได้

 ดังนั้นการห้ามจะมีการใช้ภาษาท่าทางสื่อความจริงจังไปด้วยกัน
เด็กเล็กจะอ่านภาษาท่าทางของพ่อแม่ได้เข้าใจกว่าภาษาพูด
 แต่เด็กอยู่ในวัยพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง 
สมองเด็กขับดันให้เด็กสำรวจ และไม่คุ้นเคยกับการถูกขัดใจ


 เมื่อแม่ห้าม เด็กจึงรู้สึกขัดใจอย่างยิ่ง แต่ไม่สามารถหาทางออกได้
 เพราะ เด็กเล็กยังขาดความสามารถ 4 ประการที่ไม่ทัดเทียมผู้ใหญ่ คือ
 - ความรู้ความเข้าใจ 
 - ความสามารถในการสื่อสาร เจรจารอมชอม 
 - ความสามารถในการเบียงเบนความรู้สึกขุ่นข้องของตน 
 - ความสามารถในการยับยั้งใจ อดทนอดกลั้น


 เมื่อเด็กถูกขัดใจ จึงไม่อาจหาทางออกได้
 จึงย้อนกลับไปหาวิธีที่เด็กคุ้นเคยที่สุดในขวบปีก่อนหน้า คือ ร้องไห้’ 
ทั้งเพื่อแสดงอารมณ์ และเพื่อสื่อสาร


 เด็กจะมีคุณลักษณะใหม่อันหนึ่งคือ กลัวคนแปลกหน้าและ กลัวการแยกจาก เป็นกลไกเพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายที่จะกรายเข้ามา (separation anxiety) 


(รออ่านต่อนะครับ) 

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

self-esteem



เป้าหมายของการดูแลลูกของพ่อแม่
การอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ของครู นั้น เพื่ออะไร ?

...นี่เป็นคำถามแรกๆ ที่ผมชวนพ่อแม่ และครูทุกคนคิด


คำตอบคือ 
"เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้น และอยู่รอดได้โดยไม่เป็นภาระแก่คนอื่น 
อย่างที่ตนเอง และคนรอบข้างมีความสุข"


เห็นด้วยมั้ยครับ ? 


ถ้าเห็นด้วย.. เชิญอ่านต่อ
เพราะผมกำลังพูดถึงคุณลักษณะสำคัญที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในเด็กทุกคน
'ความภาคภูมิใจในตนเอง.. self-esteem'



Self-esteem 
การตระหนักรู้อย่างแน่ชัดว่า ตนสามารถทำได้สำเร็จ และเป็นที่ยอมรับ


ถ้าจะแปลง่ายๆ ก็คือ ความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณค่าของตัวเอง


ซึ่งไม่ใช่การไปเที่ยวอวดตัวว่า ฉันเก่งในเรื่องไหนบ้าง 
หรือคิดว่าฉันเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ 
(เพราะในความเป็นจริง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ)


แต่เป็นความรู้สึกภายในจริงๆ ว่า
“ฉันเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าในแบบของฉัน 
ซึ่งสมควรจะเป็นที่รัก และยอมรับของคนอื่นๆ”




คนที่มีความสุขจริงๆ จะต้องได้รับการพัฒนา self-esteem มาตั้งแต่เด็กๆ 
โดยการสะสมความรู้สึกว่า ‘ฉันเป็นที่รักของผู้อื่น’ 
ซึ่งนั่นหมายถึง “ฉันมีคุณค่าเพียงพอที่จะถูกรัก” 


และ 


สะสม ‘ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ มาโดยสม่ำเสมอ’
ซึ่งนั่นหมายถึง ความรู้สึกมั่นใจว่า “ฉันสามารถประสบความสำเร็จได้”



เด็กจึงจะเชื่อว่าเขาทำได้ และสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่คนอื่นยอมรับ
โดยเฉพาะคนในครอบครัว ซึ่งเป็นคนที่เขารักที่สุด สำคัญที่สุด
และรับรู้ว่า ตนเองเป็นที่รัก และได้รับการยอมรับ





เด็กที่ self-esteem ต่ำมาจากบ้าน 
ทำให้ครูต้องทำงานหนักขึ้น 
และยังจะกลายมาเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องพัฒนา self-esteem อีกด้วย