Kroo Pob
พื้นที่เรียนรู้ สำหรับผู้ปรารถนาสันติ (ในบ้าน)
บทความเพื่อการเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป
วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557
วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556
การอบรม ฝึกวิทยายุทธ์สกัดจุดลูกจอมเฮี้ยว
วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
ลูกกัดเล็บ ช่วยอย่างไร
มีผู้ปกครองถามถึงเรื่องลูกกัดเล็บ ว่าจะแก้ไขอย่างไร
“ครูประจำชั้นบอกลูกกัดเล็บเป็นประจำ เล็บกุดหลายเล็บไม่ต้องตัดเลย
เวลาอยู่บ้านก็กัดบ้าง ต้องคอยเตือน
ถ้าอยู่บนรถนาน ๆ ไม่มีอะไรทำ ก็จะกัดเหมือนกัน
ถามหลายครั้งแล้วว่ารู้สึกอะไรตอนกัด ก็ยังไม่ได้คำตอบ ทำไงดี”
ผมก็ตอบไปว่า..
เรื่องกัดเล็บ คุยต่อเรื่องสาเหตุ ค่อยๆถาม และให้ตัวเลือกถ้าจำเป็น
คุยถึงความจำเป็นที่ต้องเลิก (โดยเฉพาะในเด็กโต)
ถ้าอยากเลิกเองด้วย ก็หาวิธีช่วยเตือน
ถ้ายังไม่คิดจะเลิกเอง (โดยเฉพาะในเด็กเล็ก) ก็ต้องหากิจกรรมเบี่ยงเบน
เปลี่ยนความสนใจจากการกัดเล็บ ไปสู่กิจกรรมที่ต้องใช้มือทำ
ทำบ่อย ทำซ้ำ จนไม่เกิดความเคยชินที่จะกัดเล็บ
ไม่ใช้การลงโทษรุนแรง เช่นการ ตวาด ดุว่า ตี ขู่ ฯลฯ จนวิตกหวาดกลัว
เพราะจะยิ่งเพิ่มความถี่ของพฤติกรรมที่มีสาเหตุจากความเครียดให้มากขึ้นได้
สังเกตอารมณ์ และทำงานอารมณ์ให้ทันท่วงที
ก่อนที่ลูกจะต้องใช้การกัดเล็บช่วยบรรเทา
……….
“เคยถามสาเหตุและให้ตัวเลือก แต่ลูกไม่ตอบ
ให้ตัวเลือกอะไรได้บ้าง แล้วจะเตือนที่ รร. ได้อย่างไร”
หากถามแล้ว ให้ตัวเลือกแล้ว แต่ลูกยังไม่ตอบ
ก็ค่อยๆ ตะล่อมถามต่อไปครับ ใช้ท่าทีชวนคุย
หรือจะใช้ท่าทีจริงจัง
ก็แล้วแต่ว่า เราเดาว่าสาเหตุมาจากอะไร*
ก็คงต้องทดลองใช้นะครับ
ก็ชวนมองต่อถึงสาเหตุอีกนิดนะครับ ว่าที่ลูกไม่ตอบนั้น..
เป็นเพราะหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้
(ไม่รู้จักตัวเองดีพอ ขาดโอกาสได้ฝึกคิดเชื่อมโยง ถึงสาเหตของสิ่งต่างๆ ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีสาเหตุเสมอ)
ซึ่งอาจมองต่อได้ว่าเราเปิดโอกาสให้ลูกได้รับประสบการณ์ และการเรียนรู้ทั้งภายนอก และภายในมาก และครบถ้วนหรือยัง เพียงใด
รวมถึงการชวนคิด ชวนคุย ชวนเล่น ที่ท้าทายให้ลูกคิดเชื่อมโยงในระดับเหตุผล
และต้องนำพาลูกไปต่อให้ถึงระดับ “1 เรื่อง มาได้จากหลายเหตุ” *
เพื่อให้ลูกคิดหลากหลาย และยืดหยุ่นได้ในทุกเรื่อง
ไม่ติดหล่มพัฒนาการ จนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ ได้แต่คิดตายตัว ยึดติดยึดมั่นไป คิดยืดหยุ่นไม่เป็น
หรือ
ลูกยังจับความรู้สึกตัวเองยังไม่ได้ บอกกล่าวความรู้สึกตัวเองได้ไม่ดี
(อาจจะทำได้แค่ในบางความรู้สึก หรือลูกขาดโอกาสได้ฝึกสังเกตตัวเองในเรื่องความรู้สึก?)
ถึงเวลาต้องช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองเพิ่ม
โดยเฉพาะการจับสังเกตคามรู้สึกและระบุได้ เห็นที่มาของมัน*, **
เพราะความรู้สึกเป็นแรงขับเคลื่อนใหญ่ ในการผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์
ถ้ายังติดหล่มพัฒนาการ
เมื่อเด็กไม่เคยสังเกต
เมื่อโตก็ย่อมไม่รู้ ไม่ทัน ไม่เห็นตัวเอง
ก็อาละวาดฟาดงวงฟาดงา ใส่ใครต่อใครไปทั่วได้
หรือ
ลูกรู้สึกไม่ดี อาย ผิด ที่ตัวเองกัดเล็บ จนไม่อยากพูดถึง
(ลูกไม่มีวิธีอื่นที่จะจัดการอารมณ์นอกจากกัดเล็บ แม้รู้ว่าเราไม่ชอบ และลูกเองก็รู้สึกไม่ดีกับสิ่งนั้น / เราเองมีท่าทีปฏิเสธ ไม่ยอมรับอารมณ์ หรือสถานการณ์ของลูก ดุเร็วเกินไป)
ชวนเราเองมองย้อนต่อมาได้ถึงสัมพันธภาพระหว่างเรากับลูก
อะไรทำให้ลูกไม่กล้าบอกเล่า
ประสบการณ์ และความสามารถของลูกในการคิดว่าทางออกอื่นๆ สำหรับตัวเอง มีเพียงพอหรือไม่
หรือ
รู้สึกดีที่ถูกใส่ใจ รู้สึกสำคัญ รู้สึกสนุก ที่ถูกถาม จนอยากเก็บไว้นานๆ
(ลูกยังกังวลต่อความรัก ตั้งข้อสงสัยต่อการดูแลจากเรามากน้อยเพียงใด ลูกมีวิธีในการทดสอบความจริงเหล่านั้นอย่างผู้มีสุขภาพเพียงใด)
เราเล่นสนุกด้วยกันกับลูกเพียงพอหรือไม่
การเคลียร์ความรู้สึกสงสัย ตกค้าง เรื่องความใส่ใจ ความรักเพียงพอหรือไม่
หรือเด็กยังต้องทดสอบ* อยู่
หรือ
รู้สึกดี รู้สึกสนุกที่ถูกถาม จนอยากเก็บไว้นานๆ
(ความสามารถในการแยกจริง แยกเล่นของลูกดีเพียงใด
ความสามารถในการหยุดในเวลาอันเหมาะอันควร มีมากน้อยเพียงไร)
มีท่าทีให้รู้ว่าเรื่องนี้จริงจัง เพียงพอหรือไม่
ฯลฯ
หรือเปล่า
เมื่อมองในแง่การช่วยเหลือลูกในวิถีที่ยั่งยืน
ก็หมายความว่า เรื่อง"ถามสาเหตุของการกัดเล็บ" นี้
ไม่ใช่แค่เรื่องถามตอบเรื่องการกัดเล็บแล้ว
แต่กลายเป็นโอกาสให้เรา (และตัวลูกเอง)
ได้เห็นลูกเพิ่มมากขึ้น
และเห็นสิ่งที่ต้องทำต่อ เพื่อช่วยลูก ได้มากขึ้นด้วย
เห็นสิ่งที่ต้องทำอีกยาวนาน
เพื่อนำพาลูกพ้นหล่มชีวิต* ที่วางดักไว้ตลอดเส้นทางพัฒนาการของลูก และของเรา
และในระหว่างถาม หากตอบไม่ได้ ก็ช่วยโดยให้ตัวเลือกถ้าจำเป็น
จะให้ตัวเลือกได้ เราเองก็ต้องจินตนาการได้หลากหลาย กว้างไกล
นั่นคือต้องฝึกตนเองให้มีสายตายาวไกล
ไม่มองตื้นๆ ใกล้ๆ แค่เหตุการณ์ หรือภาพตรงหน้า*
และแม้จะมีคำพูดหลุดมาจากปากลูก
ก็อาจต้องเอะใจได้ว่าจริงหรือไม่ หรือพูดไปงั้น
ดูได้จากความสอดคล้องต้องกับลักษณะดั้งเดิมของลูก ที่เรารู้จัก คุ้นเคย ว่าสอดคล้องหรือไม่
หรือมีอะไรแปลกไปชวนให้เอะใจสงสัยว่า ปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นใหม่ อาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด
สำหรับคุณครู
ก็ขอความช่วยเหลือ โดยสังเกตภาวะที่เด็กมักจะกัดเล็บ
ความรู้สึก เหตุการณ์ สถานการณ์ ที่เด็กเผชิญอยู่ ณ เวลานั้นๆ
กัดเล็บเมื่อว่างๆ เมื่อพบความกดดัน เมื่ออยากให้คนใส่ใจ เมื่อเครียด เมื่อเพลิน ฯลฯ
เพื่อเราจะมีข้อมูลมากขึ้นในการค้นหาสาเหตุครับ
กับเด็ก.. คุยถึงความจำเป็นที่ต้องเลิก
ถ้าอยากเลิกเองด้วย ก็หาวิธีช่วยเตือน และให้กำลังใจ *
ถ้ายังไม่คิดจะเลิกเอง ก็ต้องหากิจกรรมเบี่ยงเบนไปจากการกัดเล็บ
ไม่ให้คุ้นชินกับการกระทำดังกล่าวจนเป็นความเคยชิน จนเป็นนิสัยแก้ยากในอนาคต
เพิ่มการสังเกตอารมณ์ ** และทำงานอารมณ์กับลูกให้ทันท่วงที
ก่อนที่เขาจะต้องใช้การกัดเล็บช่วยบรรเทาอารมณ์ดังกล่าว
ย้ำอีกครั้งว่า เพื่อสร้างหลักประกันให้กับอนาคตของลูก
เราต้องมองให้ไกลกว่าพฤติกรรม ปรากฏการณ์ตรงหน้า*,***
มองให้เห็นข้อติดขัด และที่สำคัญ ทักษะที่ต้องเสริมเพิ่ม
เพื่อให้ลูกได้พัฒนาต่อเนื่อง
จนสุดท้ายคือ อยู่ในโลกนี้ได้อย่างภาคภูมิ เต็มศักดิ์ศรี
มีวิธีผ่านข้ามความผิดหวัง ทุกข์ใจได้ด้วยสุขภาพใจที่แข็งแรง
ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการไม่ชอบมาพากล วิธีการที่เสียสุขภาพจิต มาดำรงตนในโลกนี้
หมายเหตุ :
หากต้องการเรียนรู้พิ่มเติม อาจขวนขวายได้จากหนังสือ ตำรา ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดู
หรือพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งชำนาญเรื่องการแก้ไขปัญหาพฤติกรรม - อารมณ์ของเด็ก
* หรือเข้ารับการอบรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู และการกำกับวินัยเชิงบวก
(อาทิ การอบรม”ฝึกวิทยายุทธ์ สกัดจุดลูกจอมเฮี้ยว”)
** หรือเข้ารับการอบรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และทำงานอารมณ์
(อาทิ ค่ายอยู่กับลูกให้สนุก)
*** หรือเข้ารับการอบรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเข้าใจตนเองและผู้อื่น
(อาทิ ค่ายดูแลผู้หล่อเลี้ยง)
วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
ผมจัดค่ายไปทำไม
ประสบการณ์นำพาการทำฟลอร์ไทม์
จากประสบการณ์หลายปีในการเรียนรู้ และทำงานร่วมกับผู้ปกครอง
ในการใช้การเล่นเพื่อกระตุ้น และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ตามแนวคิด DIR/Floortime
ก็เห็นข้อสังเกตบางอย่าง ที่อยากบอกเล่า
พบว่ามีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่แม้อยากจะใช้ฟลอร์ไทม์ช่วยพัฒนาลูก
กลับมีความติดขัด พบความยากลำบาก ทั้งในตัวลูกและทั้งในตัวเอง
ลำพังของลูกก็ยากอยู่แล้ว
มาเจอข้อติดขัดของตัวเองที่ทำให้ไม่พร้อมช่วยลูก
ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
มองในแง่มุมพัฒนาการ
ไม่เพียงแต่เด็กที่จะมีข้อติดขัดในพัฒนาการ
ทว่าพ่อแม่ ผู้ใหญ่เองก็มีการติดขัดบนบันไดพัฒนาการนี้เช่นกัน
บางคนก็พัฒนามาไม่เสร็จ
บางคนก็พัฒนามาได้ไม่กว้าง
บางคนก็พัฒนามาได้ไม่ถึง
ในบางด้านบางแง่มุม หรือหลายด้าน หลายแง่มุม
ซึ่งเมื่อใช้จุดเด่น ด้านถนัดของตัวเองในการพยายามดำเนินชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ให้ได้
ก็ทำได้มาเรื่อยๆ ราบรื่นบ้าง ลุ่มๆ ดอนๆ บ้าง แต่ก็ถูไถมีชีวิตผ่านวันเวลามาได้ จนถึงวันที่จำเป็นต้องใช้ทักษะบางด้าน
แต่ทักษะนั้นไม่ได้พัฒนามาจนเพียงพอให้ใช้งานได้.. “ตูม!”
ปัญหาใหญ่ก็ปรากฎให้เห็นชัดต่อหน้า
“เล่นไม่ออก เล่นไม่ได้ อาย เขิน ประหม่า กลัวเสียหน้า
กล้ามเนื้อไม่ดี การประสานของร่างกายทำได้ไม่ดี เหนื่อยง่าย เบื่อเร็ว
เห็นลูกมีอารมณ์แล้วใจสั่นไหว ทนอารมณ์ลูกไม่ได้ต้องรีบทำให้ลูกหยุด รีบทำให้สงบโดยเร็ว
คิดไม่เป็นระบบ จับประเด็นไม่ได้ จับหลักจับรองไม่ถูก
แยกความสำคัญไม่ได้ จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังไม่ถูก คิดเชื่อมโยงไม่ได้
มองเรื่องราวต่างๆ ด้านเดียว คิดยึดติดตายตัว ขาดความคิดยืดหยุ่น ใช้เหตุผลไม่ได้ดี คิดให้เหตุผลไม่ตรงตามความเป็นจริง
คาดหวังมาก แยกแยะความเป็นจริงกับจินตนาการไม่ได้ชัดเจน
อยู่กับความคาดหวังที่เกินจริงและมากมาย วางความคิด และความกังวลลงไม่ได้
อยู่กับจินตนาการติดอยู่กับความคิดหมกมุ่นจากเรื่องราวในอดีตและปล่อยวางไม่ได้ ฟุ้งซ่านกังวลวิตกหวาดกลัวกับเรื่องราวในอนาคต จนหาปัจจุบันไม่เจอ
ไม่เห็นปัจจุบันขณะที่ตนเองต้องอยู่และทำกับลูก
ว้าวุ่นวกวนกับเสียงความรู้สึกผิด เสียงกังวล และความคาดหวังของตัวเอง
จนไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินการสื่อสารของลูกที่อยู่ตรงหน้า แม้ว่าตาจะมอง หูจะฟัง แต่กลับไม่เห็น ไม่ได้ยินลูกเลย”
ภาวการณ์นี้ เป็นข้อติดขัดในการช่วยลูก
งั้นจะทำอย่างไร...
...................................................
ในอดีตที่ผ่านมา
ผมพยายามช่วยผู้ปกครองให้เล่นกับลูกได้
แต่ก็ไม่เป็นผลเท่าใดนักในผู้ปกครองหลายคน
ทั้งทำให้ดู ทั้งชวนคุยหาข้อสรุป ทั้งบอกกล่าวความสำคัญ แต่ก็ไม่เป็นผล
เมื่อไม่ได้ผลผมก็พยายามให้มากขึ้น
พูดดังขึ้น พูดแรงขึ้น แสดงชัดขึ้น
เคียวเข็ญมากขึ้น
ขู่มากขึ้น ชี้จุดบกพร่อง ชี้ผลเสียในอนาคตมากขึ้น
แต่เรื่องกลับตาลปัตร
แม้มีผู้ปกครองบางคนที่รับได้ เห็นประโยชน์ได้ ทนได้ และนำพาลูกให้พัฒนาขึ้นได้
แต่กลับมีผู้ปกครองไม่น้อยที่ยิ่งติดขัด ยิ่งกังวล ยิ่งเครียด ยิ่งรู้สึกผิด
และยิ่งโกรธ
และกลัว ทั้งตัวเอง และผม
เมื่อลงแรงไป ได้ผลน้อย
ผมก็ยิ่งเพิ่มแรงให้มากขึ้น พยายามให้มากขึ้น
เรื่องกลับเป็นว่า ยิ่งผมเพิ่มความพยายามเท่าไหร่
พลังงานของความพยายามนั้นก็ยิ่งบดเบียด
และทำผู้ปกครองถอยห่างไปมากเท่านั้น
ผมทุกข์ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร..
จนได้มาเจอกับแนวทางจิตวิวัฒน์
รู้ได้ว่ามีชุดความรู้อีกชุดใหญ่ๆ ในแง่มุมของมนุษยปรัชญา มนุษยนิยม
ที่อธิบายชีวิต และแนวทางในการดำเนินชีวิตในอีกมุมหนึ่ง
ที่ช่วยให้เกิดการมองโลกภายในได้ และดีขึ้นด้วย
เป็นอีกทางให้เลือกเดินบนเส้นของการพัฒนาตัวเอง
ที่สำคัญสอดคล้องกับหลักการของ DIR/Floortime ด้วย
เมื่อลองใช้
ก็นำพาผู้ปกครองอีกจำนวนหนึ่งได้ในทันที
และเมื่อใช้ไป เปลี่ยนตัวเองไป
ก็มีช่องทางในการช่วยผู้ปกครองได้มากขึ้นทีละน้อย แม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม
มีของดีก็อยากแบ่งปัน
มีของใช้งานได้ เป็นประโยชน์กับเด็กได้จริง เรื่องอะไรจะไม่นำมาใช้ช่วยเด็กของเรา?
...ผมจึงจัดค่าย
จัดค่ายไปทำไม
ค่ายของครูพบ ที่จัดให้กับผู้ปกครองมาใน 2 ปีนี้
จุดมุ่งหมายสำคัญคือ การหาเครื่อมือที่ใช้งานได้
ในการช่วยคลี่คลายข้อติดขัดเชิงจิตวิทยาภายในตนเอง ซึ่งบางคนอาจใช้คำว่า “โลกภายใน”
อันเป็นตัวล็อค และ บล็อก
ให้การช่วยเหลือลูกด้วยเทคนิคฟลอร์ไทม์ติดขัด ไปได้ไม่ถึงที่สุด ไปได้ไม่ดี และกระทั่งไปไม่ได้เลย
ยังคงเป็นค่ายที่อยู่บนจุดมุ่งหมายหลักของวิชาชีพ
คือ การส่งเสริมทักษะชีวิตจนบุคคลยืนได้มั่นคง อย่างมีศักดิ์ศรี
ในฐานะมนุษย์ที่แท้จริงและเท่าเทียมบนความแตกต่าง
ด้วยการปรับปรุงสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่และลูก
การสร้างความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการ การเลี้ยงดูเด็กแก่พ่อแม่
และช่วยเหลือพ่อแม่ในการปรับแก้ปัญหาอารมณ์-พฤติกรรมของเด็ก
จนสุดท้ายได้ของขวัญชีวิต 2 ชิ้น คือ
ลูกเติบโตได้ดีบนบันไดพัฒนาการ
มีหลักประกันที่มั่นคงว่าชีวิตจะอยู่รอด
มีกำลัง และความสามารถเพียงพอ
ที่จะดูแลตัวเองในโลกผันผวนใบนี้ต่อไปได้ ด้วยตัวเขาเอง
และ
บ้านสุขสงบ
มีสัมพันธภาพในเชิงบวก
มีความสุขในชีวิตและในบ้าน
..ปิดฉากสนามรบ!
……………………………………………..
วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556
ปฏิทินค่ายครึ่งปีหลัง ปี2556
วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556
วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556
การฝึกเขียนสำหรับเด็กปฐมวัย
หนึ่งในข้อปรึกษายอดฮิตจากผู้ปกครอง คือเรื่องการฝึกเขียน
ผมก็มักตอบไปในทำนองนี้ครับ..
ขอให้มองการเขียนเป็นผลปลายทาง
จะได้มาก็เมื่อความพร้อมของกล้ามเนื้อ
การประสานสัมพันธ์
การวางแผนการทำงานของกล้ามเนื้อ
และการทำงานร่วมตา-มือ ได้มาครบถ้วน
อยากได้การเขียน ต้องฝึกนิ้วและมือ
ถ้าฝึกเขียน จะได้การเขียนอย่างเดียว
แต่สูญเสียโอกาสเรื่องอื่นที่หลากหลาย
ถ้าฝึกทักษะที่หลากหลาย
จะได้การเขียนด้วย
มีเรื่องเล่าจากผู้ปกครองว่า
สังเกตเห็นว่าลูกมีความลำบากในการจับดินสอด้วย 3 นิ้ว แต่จะใช้การกำดินสอแทน
และสังเกตเห็นว่า เมื่อลูกได้”เล่น” ของเล่นที่มีการใช้มือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นิ้ว” ที่เพียงพอ
ลูกก็จับดินสอด้วย 3 นิ้ว ได้ถูกวิธี ด้วยตัวลูกเอง
สรุปเสร็จแล้วก็เสียดายรสมือ และในข้อความดีๆ จากผู้ปกครองท่านนั้น
จึงขออนุญาตยกบางข้อความที่น่าจะเป็นประโยชน์มาทั้งช่วง
เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรายละเอียด และ อรรถรสไปด้วย ดังนี้..
“หนึ่งในความสามารถที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ก็คือ
การที่มนุษย์สามารถควบคุมนิ้วมือให้สามารถทำงานละเอียดได้
ซึ่งงานที่ละเอียดนี้เองก็จะสะท้อนกลับทำให้มนุษย์พัฒนาตัวเองได้ดีขึ้นและเมื่อพัฒนาดีขึ้น
ก็สามารถทำงานที่ละเอียดเพิ่มขึ้นสะท้อนไปสู่การพัฒนาที่สูงขึ้นกลับไปกลับมาเรื่อยๆ”
“ช่วงแรกเราพยายามจับมือลูกให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง
ทั้งการจับดินสอและการจับช้อน-ส้อม แต่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยเป็นผลนัก
เพราะว่าลูกก็จับได้อยู่สักพัก พอเขียนมันส์ๆ กินเพลินๆ ก็กลับไปจับแบบเดิมอีก
เราก็ทัก พอทักลูกก็พยามยามกลับไปจับแบบสามนิ้วใหม่ พอสักพักก็จับรวบแบบเดิม
อีกทั้งเราสังเกตว่าวิธีการจับแบบสามนิ้วของลูกก็ยังไม่ค่อยถูกต้องนักแม้เราจะพยามจัดท่าให้หลายครั้งแล้วก็ตาม”
“วันเวลาผ่านไป เราเองก็พยามฝึกไปเรื่อยๆ ในชีวิตแบบปกติ ซึ่งก็ไม่ค่อยมีมรรคมีผลอะไร
จนกระทั่งเมื่อวานนี้เราวาดรูปเล่นกัน
พ่อสังเกตได้ว่า เอ๊ะ! นี่ลูกจับปากกาถูกต้องแล้วนี่หว่า แถมจับถูกต้องตลอดการวาดรูปด้วย
พ่อกับแม่พยายามนึกว่า พรอันประเสริฐหรือบุญอันใดหนอที่ทำให้ลูกทำได้แบบนี้
แล้วเราก็นึกได้…”
“ตอนช่วงสงกรานต์เราซื้อของเล่นชิ้นนึงให้ลูกเป็นเรือถอดประกอบได้…
พอกลับมาบ้านพ่อเป็นคนต่อให้ ลูกก็แค่ถือไปมา เอาเรือไปลอยน้ำเล่นแค่นั้นไม่มีอะไรพิเศษ
แต่อยู่มาวันหนึ่ง ลูกจับมันถอดเป็นชิ้นๆ แล้วก็นั่งประกอบใหม่เอง
พ่อค่อนข้างมหัศจรรย์ใจเล็กน้อย เผลอครางในใจเบาๆว่า "เออ มันเก่งเว้ย"
แล้วลูกก็ชอบเอามันมาแกะเล่น ประกอบใหม่อยู่บ่อยๆด้วยคีมของเล่นที่ให้มาด้วย
ตลอดเวลาที่นั่งแกะประกอบ ลูกจะมีสมาธิ เอาชิ้นส่วนเล็กๆมายึด ต่อ ถอด ดึง เข้าด้วยกัน
และสามารถประกอบกลับได้คล่องและเรียบร้อยขึ้นเรื่อยๆ…”
“พ่อคิดว่าการทำงานของนิ้วมือสามนิ้วคงพัฒนาขึ้นมาตอนจับคีมถอดประกอบของเล่นนี่แหละ
การที่ลูกโตขึ้นก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความพร้อมทางกายภาพมีมากขึ้น
แต่ครอบครัวเรามั่นใจว่าเรื่องคลื่น alfa และ Floortime ก็คงมีส่วน
การที่ลูกมีโอกาสได้จดจ่อ ได้ฝึก SI ได้เห็นความสำเร็จ มีทักษะเพิ่มขึ้น ผ่านการเล่นนี้ มันเห็นผลมากกว่าการจับมือทำมากนัก
การฝึกฝนใดๆควรจะมีความสุขเป็นเอกสารที่แนบไปด้วยจึงจะได้รับการอนุมัติ”
ต้องขอบคุณเรื่องที่เล่ามา เป็นตัวอย่างที่ดี
เรื่องเล่านี้ การพัฒนาของลูกมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน
หนึ่งคือ..
เมื่อทักษะที่จำเป็นได้รับการพัฒนา
เรื่องเขียน ก็เป็นเรื่องจิ๊บๆ
และสอง..
การฝึกฝนใดๆ การพัฒนาส่วนอ่อนด้อยใดๆ
ต้องอาศัยความสุข สนุกสนาน
……………………………………………….
แล้วก็มักตามมาด้วยคำถามเกี่ยวกับของเล่น
ผมก็มักให้คำตอบว่า…
ของเล่นที่ซับซ้อน
อยู่ในการเล่นสมมุติ ด้วยวัสดุธรรมชาติรอบๆ ตัว
และอยู่ในการทำงานบ้าน
ด้วยกันกับผู้ใหญ่ที่เขารัก และวางใจ
ของเล่นหาซื้อได้
ความสามารถต้องกระทำ
ทักษะไม่มีขาย
อยากได้ต้องลงมือ
หมายเหตุ :
เรื่องคลื่น Alpha เรื่อง Floortime และ เรื่อง SI ที่ผู้ปกครองท่านนี้เอ่ยถึง คืออะไรนั้น
ผมคงจะได้มาเขียนเล่าเพิ่มเติมเมื่อมีโอกาส ก็รอติดตามนะครับ
อาจจะนานหน่อย ตามเวลา และความพร้อมที่มีครับ